วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

ลานินญ่า เอลนินโญ่

ลานินญ่า เอลนินโญ่


เอลนิโญ (El Nino)
ที่มาของคำว่า เอลนิโญ (El Nino) มาจากภาษาสเปญ ที่แปลว่า "เด็กชาย" ตามประวัติที่เล่าต่อๆกันมา ย้อนหลังไปราว 1500 ปี เขาบอกว่า......ชื่อนี้ได้มาจากชาวเปรูที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงหนือของประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใกล้ๆเส้นศูนย์สูตร ชาวเปรูในท้องถิ่นดังกล่าวได้สังเกตเห็นว่า? ในบางปีจะมีกระแสน้ำอุ่นไหลมาตามแนวชายฝั่ง พร้อมกันนั้นสภาวะภูมิอากาศจะผิดปรกติไป เช่น ฝนไม่ตกในบริเวณที่เคยตกประจำแต่กลับไปตกในพื้นที่ที่แห้งแล้งกันดารซึ่งไม่ค่อยมีฝนตก ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน ปลาที่เคยมีให้ชาวประมงจับมากมายกลับมีจำนวนน้อยลง เมื่อปลาในทะเลมีน้อยลง นกซึ่งกินปลาเป็นอาหารก็พากันอพยพไปหากินถิ่นอื่น ส่งผลให้มูลนกมีปริมาณน้อยและมีคุณค่าทางปุ๋ยต่ำลง คนเก็บมูลนกขายก็เดือดร้อนไปด้วย ไปๆมาๆชาวเปรูจึงเดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง หรือเกษตรกร เรื่องนี้ฝังใจชาวเปรูที่อาศัยอยู่แถบแถวนั้นมาโดยตลอด จวบจนประมาณปี พ.ศ. 2433 พวกเขาจึงได้ขนานนามกระแสน้ำอุ่นนี้ว่า El? Nino เนื่องจากเห็นว่าถ้ามีกระแสน้ำอุ่นมา ก็จะมาในช่วงใกล้กับวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลฉลองการมาบังเกิดของพระเยซูเจ้า ที่ทรงเป็น เด็กชาย ที่ทรงน่ารักน่าเอ็นดูเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ยืมชื่อเอลนิโญมาใช้ โดยใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นและโยงใยไปถึงสภาพอากาศทั่วโลก จากนั้นยังมีการตั้งชื่อ ลานีญา ขึ้นมาสำหรับเรียกปรากฏการณ์ที่กลับกันกับเอลนิโญ เราทราบแล้วว่า เอลนิโญเป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์เกี่ยวกับกระแสน้ำอุ่น ลานีญา จึงเป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์เกี่ยวกับกระแสน้ำเย็น
?

เอลนิโญ เกิดขึ้นได้อย่างไร
พื้นโลกรับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เท่ากัน บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะรับความร้อนมากกว่าขั้วโลกเหนือและใต้มากมาย น้ำทะเลและอากาศจะเป็นตัวพาความร้อนออกจากเส้นศูนย์สูตรไปยังขั้วโลกทั้งสอง น้ำทะเลที่ผิวมหาสมุทรจะร้อนขึ้นจนระเหยกลายเป็นไอขึ้นไป น้ำอุ่นข้างล่างผิวน้ำและใกล้เคียงจะเข้ามาและกลายเป็นไออีก เป็นเหตุให้มีการไหลทดแทนของน้ำและอากาศจากที่เย็นกว่าไปสู่ที่อุ่นกว่า เกิดเป็นวงจรระบายความร้อนและความชื้นออกไปจากโซนร้อนอย่างต่อเนื่อง ในภาวะปกติ โซนร้อนที่กล่าวถึงนี้คือบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่บริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ?ลักษณะนี้ทำให้มีลมพัดจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกมาหาแนวเส้นศูนย์สูตรทางแปซิฟิกตะวันตก คนเดินเรือใบในอดีตรู้จักลมนี้ดี โดยเฉพาะชาวจีน เพราะได้อาศัยลมนี้ในการเดินทางมาค้าขายหรือหอบเสื่อผืนหมอนใบมายังเอเชียใต้ ลมนี้คือ ลมสินค้า นั่นเอง

ลมสินค้าได้พัดน้ำให้ไหลตามมาด้วย จากการสำรวจทางดาวเทียมพบว่า น้ำทะเลแถวอินโดนีเซียมีระดับสูงกว่าทางฝั่งเปรูประมาณครึ่งเมตร ซึ่งทางฝั่งเปรูนั้น เมื่อน้ำทะเลชั้นบนที่ร้อนได้ไหลมาทางตะวันตกตามแรงลมแล้ว น้ำทะเลด้านล่างซึ่งเย็นกว่าก็จะลอยขึ้นมาแทนที่ หอบเอาแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารปลาลอยขึ้นมาด้วย ทำให้ท้องทะเลย่านนี้มีปลาเล็กปลาใหญ่ชุกชุม (นักดำน้ำส่วนมากรู้จักปรากฏการณ์น้ำเย็นที่อยู่ในที่ลึกๆ แล้วไหลมาแทนน้ำอุ่นๆที่อยู่ที่ผิวน้ำได้ดี ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Upwelling ซึ่งถ้ามีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อใดในระหว่างดำน้ำละก็ เราจะเจอน้ำเย็นเฉียบ...ตะกอนลอยฟุ้งไปทั่ว...กระแสน้ำที่ผิวน้ำจะแรงมาก แต่ดีจังเลยที่มีปลาใหญ่ๆมาให้ดูมากมาย)

เมื่อมีปลาชุกชุมก็ทำให้มีนกซึ่งกินปลาเป็นอาหารชุกชุมไปด้วย เกิดอาชีพเก็บมูลนกขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้นมา
?ส่วนทางแปซิฟิกตะวันตกนั้น เมื่อมีน้ำอุ่นที่ถูกลมพัดพามาสะสมไว้จนเป็นแอ่งใหญ่ จึงมีเมฆมากฝนตกชุก อากาศบริเวณนี้จึงร้อนชื้น ที่บอกว่าน้ำทะเลร้อนและเย็นนั้น ตามปรกติก็จะร้อนและเย็นประมาณ 30 และ 22 องศาเซลเซียส ตามลำดับ

เมื่อเกิดเอลนิโญลมสินค้าจะมีกำลังอ่อนลงทำให้ไม่สามารถพยุงน้ำทะเลทางแปซิฟิกตะวันตกให้อยู่ในระดับสูงอย่างเดิมได้ น้ำอุ่นจึงไหลย้อนมาทางตะวันออก แอ่งน้ำอุ่นซึ่งเปรียบได้กับน้ำร้อนในกระทะใบใหญ่ ซึ่งเคยอยู่ชิดขอบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก การลอยตัวของน้ำเย็นจากก้นทะเลจึงมีน้อย มีผลทำให้น้ำด้านแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น
?


ทีนี้ก็เกิดวงจรแบบงูกินหางขึ้น คือ น้ำทะเลยิ่งร้อน ลมสินค้าก็ยิ่งอ่อน? ลมสินค้ายิ่งอ่อนน้ำทะเลก็ยิ่งร้อน ?นี่เป็นปัจจัยให้แต่ละครั้งที่เกิดเอลนิโญ แอ่งนำอุ่นจะขยายใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้นทุกครั้งไป

โดยสรุป.......เอลนิโญ คือ การไหลย้อนกลับของผิวน้ำทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่ง จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกไปแทนที่กระแสน้ำเย็น ที่ไหลอยู่เดิมตามบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลได้แผ่ขยายกว้าง ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของบรรยากาศแผ่ขยายกว้างออกไป
?
ผลของปรากฏการณ์เอลนิโญ
เอลนิโญ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วนานนับพันปี และในทุก 10 ปี จะเกิดปรากฎการณ์นี้เฉลี่ย 2 ครั้งๆ ละประมาณ 8-12 เดือน ปรากฏชัดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นับจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป 10 องศาเหนือและลงมาจากเส้นศูนย์สูตรอีก 10 องศาใต้ (กฤติยา มลาสานต์, 2540:36-38) ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมามนุษย์สามารถเข้าใจการเกิดและการพัฒนาปรากฏการณ์นี้ได้มากขึ้น และในปี 2525-2526 ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนั้น นับเป็นการเกิดที่รุนแรงที่สุดในศตวรรษที่ 20 (วัฒนา กันบัว และเกษรินทร์ ห่านประเสริฐ, 2524:9-12)

ความจริงเอลนิโญไม่ได้ทำให้อากาศร้อนอย่างเดียว ยังทำให้บางพื้นที่ในประเทศทางซีกโลกเหนือมีความหนาวเย็นและมีหิมะตกหนักกว่าปรกติด้วย เช่นที่ประเทศเกาหลีเหนือนอกจากภัยที่กล่าวมาแล้วยังมีภัยทางอ้อมต่าง ๆ อีก ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำและอากาศมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็เพราะแล้งไปหรือชื้นไป 

ลานีญา (La Nina) 
ลานีญา 
หรือ La Nina ในภาษาสเปญนั้น แปลว่า "เด็กหญิง" ซึ่งตรงข้ามกับ เอลนิโญ ที่แปลว่า "เด็กชาย" และปรากฏการณ์ของลานีญาก็มีลักษณะตรงกันข้ามกับ เอลนิโญ โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ลานีญา คือความผันผวนของสภาพอากาศโลก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ช่วงระยะเวลาเย็นลงของน้ำทะเลของปรากฏการณ์เอลนิโญ โดยจะส่งผลให้พื้นที่ที่เคยมีอากาศหนาวเย็นอยู่แล้วมีอุณหภูมิลดต่ำลงไปอีก และในบริเวณที่มีฝนตกเป็นประจำจะมีฝนตกชุกยิ่งขึ้น

จากปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของลมสินค้าหรือลมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และลมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าหาแนวเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยนทิศทาง ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลย้อนกลับตามกระแส ส่งผลให้บริเวณที่เคยมีกระแสแห้งแล้งและมีอากาศหนาวเย็นมาก่อนกลับมีฝนตกชุกกว่าเดิมและมีสภาพอบอุ่นขึ้น เมื่อเอลนิโญได้ผ่านพ้นไป กระแสน้ำอุ่นก็ไหลกลับคืนสู่สภาวะปกติในช่วงที่กระแสน้ำอุ่นไหลย้อนกลับจะดูดเอาน้ำทะเลที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าไหลขึ้นมาแทนทำให้เกิดปรากฎการณ์ลานิญญาขึ้น ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนั้นมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในแนวเส้นศูนย์สูตรต้องเผชิญกับความหนาวเย็นผิดปกติ ทำให้ประเทศที่เพิ่งประสบกับภัยแล้งจากเอลนิโญเกิดฝนตกชุกกว่าปกติ และมีพายุก่อตัวขึ้นหลายครั้ง

สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากลานีญามากที่สุด คือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ตอนล่าง เนื่องจากอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ตรงมหาสมุทรแปซิฟิก แต่สำหรับประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลความชุ่มชื้นจากพายุฝน ที่ก่อตัวจากมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเคลื่อนเข้าไทยเป็นประจำประมาณ 3-4 ลูกต่อปี แต่เมื่อเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ พายุก็เปลี่ยนทิศทางขึ้นเหนือเข้าสู่ทะเลจีนใต้หมด ทำให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆที่อยู่แถบแหลมอินโดจีนเกิดภาวะแห้งแล้งในปี 2540 และตอนต้นปี 2541 แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ลานิญญาขึ้น อาจจะส่งผลให้มีพายุก่อตัวและพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากกว่าเดิม ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักเหมือนกับปี 2526 ที่ได้เคยประสบมาแล้ว